Q&A รวม คำถาม - คำตอบ

ในฐานะผู้ให้บริการระดับมืออาชีพอย่างครบวงจร
เรานำเสนอบริการด้านบัญชีอย่างครบวงจร
ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบบัญชีตามกฎหมาย
การบริการด้านการบัญชี ภาษีอากร 
การบริการด้านบัญชี บริการตรวจสอบบัญชี 
บริการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและบริการด้านกฎหมาย

คำถามเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท ?

จดบริษัทจำกัด กับ ห้างหุ้นส่วน ต่างกันอย่างไร ?

ข้อแตกต่างระหว่าง บริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดแบ่งได้ ดังนี้


    1. การร่วมลงทุน จำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้ก่อตั้ง

        บริษัทจำกัด : จะต้องมีผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ถือหุ้น อย่างน้อย 3 ท่าน

        ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะต้องมีผู้ร่วมลงทุนหรือหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คน ขึ้นไป


    2. การลงทุน

         บริษัทจำกัด : การลงทุนสำหรับการจดทะเบียนบริษัทนั้น จะเป็นลักษณะของ

ทุนหุ้น โดยที่ผู้ลงทุนจะต้องแบ่งทุนออกเป็นหุ้น แต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าเท่า ๆ กัน

(มูลค่าต้องไม่ต่ำกว่า หุ้นละ 5 บาท) และต้องการเป็นการลงหุ้นด้วยเงินเท่านั้น


          ห้างหุ้นส่วนจำกัด : การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คุณไม่ต้องแบ่งเป็น

ทุนเป็นทุนหุ้น เหมือนการจดทะเบียนบริษัทจำกัด และไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นต่ำของทุน

จดทะเบียนด้วย เพราะการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ได้มีการกำหนดขั้นต่ำไว้

นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้จำนวนเงินลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนใน

ห้างหุ้นส่วนกันทั้งหมด รวมถึง สามารถลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สินและแรงงาน

เป็นทุนจดทะเบียนได้


      3. ความรับผิดในหนี้สิน

              บริษัทจำกัด : เนื่องจากความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด ผู้ถือหุ้นหรือผู้

ลงทุนจะรับผิดชอบเฉพาะเงินลงทุนในหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเท่านั้น

              ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

                                             - หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนผู้จัดการ) รับผิดชอบไม่จำกัดจำนวน

                                             - หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนทั่วไป) รับผิดชอบเท่าจำนวนหุ้นที่ลงไป

      4. ค่าธรรมเนียม

                บริษัทจำกัด : มีค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัท 5,000 บาท

                ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้ง 1,000 บาท


      5. การประชุมสามัญประจำปี

                บริษัทจำกัด : จะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี

                ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ไม่ต้องประชุมหุ้นส่วนประจำปี


      6. การปิดงบประจำปี

                  บริษัทจำกัด : ผู้ที่สามารถเซ็นปิดงบได้ จะเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) เท่านั้น

                  ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ผู้ที่สามารถเซ็นปิดงบ จะเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA หรือ

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ก็ได้


       7. อัตราภาษี

            ไม่ว่าคุณ ยื่นจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน คุณจำต้องจ่ายภาษีในรูปแบบของอัตราภาษีก้าวหน้า

การจดบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจของคุณ

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัทมักจะแนะนำให้เจ้าของธุรกิจจดบริษัทมากกว่า

ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

 

1. จดบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากกว่า

         คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดมักจะเป็นการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว และรู้สึกว่าบริษัทจำกัด

มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากกว่า ดังนั้น หากธุรกิจของคุณต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และต้องการ

เพิ่มความน่าเชื่อถือและความมืออาชีพให้กับธุรกิจ การจดทะเบียนบริษัทจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คุณมากกว่า


2. ความรับผิดชอบการขาดทุนของบริษัท


           หากคุณเลือกจดทะเบียนบริษัท และธุรกิจของคุณขาดทุน คุณจะต้องรับผิดชอบแค่หุ้นที่คุณลงทุนไปเท่านั้น

หากเกิดการฟ้องร้องภายหลังทรัพย์สินส่วนตัวของคุณจะไม่ถูกดึงมาข้องเกี่ยวด้วย แต่หากคุณจดห้างหุ้นส่วนจำกัด

ความรับผิดชอบของคุณจะขึ้นอยู่กับประเภทการลงทุน ดังนี้

       - หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนผู้จัดการ) : คุณต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากเงินที่ลงทุนไปด้วย

       - หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนทั่วไป) : คุณจะต้องรับผิดชอบแค่ในส่วนที่ลงทุนไปเท่านั้น ไม่ต้องรับผิด

ชอบเกินกว่าที่ลงทุนไป


3. ระยะเวลา


                หลายคนมักจะคิดว่าการจดทะเบียนมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลามากกว่าการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันการจดทะเบียนบริษัทใช้ระยะเวลาเท่ากับการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ 1 วันเท่านั้น

ทำไมถึงต้องใช้บริการจดทะเบียนบริษัทจากสำนักงานบัญชีของเรา ?

แม้กิจการจะสามารถดำเนินการจดทะเบียนประเภทต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง แต่ก็มักประสบกับปัญหาหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดเตรียมเอกสาร แบบคำร้อง ขั้นตอนการจดทะเบียน ความล่าช้าในการติดต่อเจ้าหน้าที่ ฯลฯ

ซึ่งล้วนเป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาและค่าช้าจ่ายในการเดินทางไปยังสำนักงานจดทะเบียนครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้วยเหตุนี้กิจการจำนวนมากจึงนิยมเลือกใช้บริการจดทะเบียนจากสำนักงานฯ ซึ่งคุณจะมั่นใจได้ว่างานจดทะเบียน

จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญ ทำให้การจดทะเบียนเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็ว

และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

คำถามเกี่ยวกับการบัญชี, ภาษีอากร ?

ความเข้าใจในหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีอากร รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กิจการมีสิทธิได้รับถือเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างยิ่งต่อความสำเร็จ ในการบริหารงานธุรกิจทุกประเภทในปัจจุบัน การวางแผนภาษีอากรที่ถูกต้องและเหมาะสมจะ

ช่วยให้กิจการได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมถึงการจำกัดค่าใช้จ่ายต้องห้ามต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การวางแผนภาษีอากรยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางภาษีอากรอันเนื่องมาจากข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

1.รายการเดินบัญชี (Bank Statement)

   เอกสารตัวแรกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการบันทึกบัญชี

เพื่อให้เรารู้ว่าเจ้าของกิจการมีการรับเงินและจ่ายเงินเมื่อไรบ้าง

ถ้ากิจการไหนมีรายการเดินบัญชีมามากกว่า 1 บัญชี เจ้าของกิจการจะต้องเตรียม

ข้อมูลรายการเดินบัญชีของทุกธนาคารให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกบัญชีประจำเดือน

 
   ปัจจุบัน เจ้าของกิจการสามารถดาวน์โหลดรายการเดินบัญชีออนไลน์จากธนาคารได้เลย

ไม่ต้องเสียเวลาในการไปขอรับเอกสารจากธนาคารอีกต่อไป


   ที่สำคัญธุรกิจเดินบัญชีผ่านรายการเดินบัญชีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะช่วยให้นักบัญชี

ทำงานง่ายขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยแบ่งแยกเงินระหว่างกระเป๋าส่วนตัวและเจ้าของกิจการ

ไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ

 

2. เอกสารขาย

   เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายที่นักบัญชีต้องใช้สำหรับการบันทึกบัญชี จะประกอบด้วย

  • ใบแจ้งหนี้ 
  • ใบกำกับภาษี (กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  
  • ใบเสร็จรับเงิน
  • ใบรับรองการหัก ณ ที่จ่าย

   เอกสารเหล่านี้จะช่วยให้นักบัญชีบันทึกรับรู้รายได้ และการรับเงิน รวมไปถึงภาษีที่กิจการถูกหัก

ณ ที่จ่ายไว้ (กรณีเป็นธุรกิจบริการ) ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ตามงวดเวลา


 
3.เอกสารซื้อสินค้า

   ในส่วนของการซื้อสินค้า สำหรับกิจการที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป หรือธุรกิจผลิต

ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ส่งให้สำนักงานบัญชี 
  • ใบแจ้งหนี้ หรือใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี จากซัพพลายเออร์
  • ใบรับสินค้า
  • ใบเสร็จรับเงินจากซัพพลายเออร์

   เอกสารเหล่านี้ช่วยให้สำนักงานบัญชีรับรู้สินค้าและเจ้าหนี้ได้อย่างถูกต้อง และจัดทำรายงานสินค้าคงเหลือได้ (ถ้าตกลงกันไว้) รวมไปถึงทำรายงานเจ้าหนี้ค้างจ่ายประจำเดือน 


4. เอกสารค่าใช้จ่าย

   สำหรับเอกสารค่าใช้จ่าย จะเป็นรายการที่นอกเหนือจากการสั่งซื้อสินค้า เช่น

ค่าจ้างงานฟรีแลนซ์ ค่าน้ำมัน ค่าเช่า เป็นต้น ซึ่งหลัก ๆ แล้วเอกสาร 1 ชุด จะประกอบด้วย 
  • ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษี จากซัพพลายเออร์
  • ใบเสร็จรับเงินจากซัพพลายเออร์
  • ใบรับรองการหัก ณ ที่จ่าย

   เจ้าของกิจการจะต้องเตรียมเอกสารในข้อ 3 และ 4 ใส่แฟ้มไว้ เรียงตามวันที่ เพื่อส่งให้กับ

สำนักงานบัญชีทุกๆ เดือน กรณีที่เอกสารขาดหายไป อาจทำให้บันทึกค่าใช้จ่ายหรือเจ้าหนี้

ไม่ครบ หรือเคลมภาษีได้ไม่ครบ ฉะนั้นเจ้าของกิจการควรให้ความสำคัญมากๆ

เกี่ยวกับเอกสารเหล่านี้

   ส่วนต้นฉบับเอกสารก็แล้วแต่จะตกลงกับสำนักงานบัญชีว่าจะส่งให้เป็นรายเดือนหรือ 3 เดือน

ครั้งก็ได้ เพราะเอกสารต้นฉบับก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการจัดทำแฟ้มภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง


5. เอกสารเงินเดือน

   ในทุกเดือนที่จ่ายเงินเดือนไป เจ้าของกิจการควรจะมีส่งเอกสารให้สำนักงานบัญชีบันทึก

ค่าใช้จ่ายจำพวกเงินเดือนดังต่อไปนี้
  • รายงานสรุปเงินเดือน ที่แยกรายละเอียดเงินเดือน เงินเพิ่ม/ลด ประกันสังคม และ หัก ณ ที่จ่าย แต่ละเดือน

   เพื่อที่สำนักงานบัญชีจะได้บันทึกรายจ่ายเงินเดือนและรายการหักเงินต่างๆ ในระบบอย่างครบถ้วน 

   เอกสารทั้ง 5 ข้อ ที่กล่าวมาเป็นเอกสารที่จำเป็นสำหรับการทำบัญชีแบบปกติในแต่ละเดือน

แต่สำหรับกิจการที่มีการทำสัญญาเพิ่มเติม แล้วมีผลเกี่ยวข้องกับงานบัญชี เช่น
  • สัญญาเงินกู้
  • สัญญาเช่าซื้อ
  • สัญญาก่อสร้าง
  • สัญญาเหล่านี้ก็ควรถูกรวบรวมให้สำนักงานบัญชีด้วยเช่นกัน

 

สุดท้ายนี้  แม้ว่าการเตรียมเอกสารให้สำนักงานบัญชีในแต่ละเดือนจะเป็นงานที่ละเอียดและใช้เวลาเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเรารู้ว่าวัตถุประสงค์ในการเตรียมเอกสารนั้น ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อให้ธุรกิจมีข้อมูลทางบัญชีที่ครบถ้วน เราเองก็คงเต็มใจที่จะเตรียมเอกสารมากยิ่งขึ้นไปโดยปริยายเลยค่ะ

รวม ค่าลดหย่อนภาษี ปี 2565

รายการที่ลดหย่อนได้อัตราค่าลดหย่อน
1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว60,000 บาท
2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส

คนละ 60,000 บาท และกฏหมายอนุญาตให้มีได้

สูงสุด 1 คน

3.ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 - 60,000 บาท
4.ค่าลดหย่อนบิดา - มารดาคนละ 30,000 บาท
5.ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพคนละ 60,000 บาท
6.ค่าฝากครรภ์และทำคลอด

ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ

60,000 บาท

7.เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต

ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

(คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท)

8.เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
9.เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท

และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน

100,000 บาท

10.กบข. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /

กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว

ไม่เกิน 500,000 บาท

11.ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

และเมื่อรวมกับข้อ 10.

แล้วไม่เกิน 500,000 บาท

12.เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ตามที่จริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่

เกิน 200,000 บาท

และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

13.เงินประกันสังคมตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท
14.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับ ข้อ 10. และ RMF

และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

15.ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและ

ไม่เกิน 200,000 บาท

และเมื่อรวมกันกับข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบ

บำนาญ และ กอช. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

16.ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
17.ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต

ลดหย่อนเพิ่มได้ีอกตามที่จ่ายจริง เมื่อมีเงินได้จากค่าเช่า,

ค่าวิชาชีพอิสระ,

ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือ เงินได้การประกอบ

ธุรกิจอื่น ๆ

18.เงินบริจาคพรรคการเมืองตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

19.เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise

(วิสาหกิจเพื่อสังคม)

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
20.ช้อปดีมีคืน 2565

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

(รอประกาศเป็นกฏหมาย)

21.เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม

และโรงพยาบาลรัฐ

2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10%

ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

22.เงินบริจาคทั่วไปตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

 

รายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ

  • เครดิตภาษีเงินปันผล ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
  • สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก

 

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนเมื่อจ่ายไปแล้วจะเสียภาษีน้อยลงตามจำนวนที่จ่ายไป เช่น ใช้สิทธิลดหย่อน 1,000 บาท แล้วจะได้เสียภาษีถูกลง 1,000 บาท ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเสียภาษีน้อยลงหรือได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้และอัตราภาษีของแต่ละคนด้วย

 

  • หลายคนมักเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนภาษี คือ เงินคืนภาษีที่จะได้รับเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้ค่าลดหย่อนภาษีจะช่วยประหยัดภาษีได้จริง แต่จะได้เงินภาษีมากหรือน้อยเท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้และอัตราภาษีของแต่ละคนด้วย เช่น ถ้ามีเงินได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีในอัตรา 35% แสดงว่าถ้าได้รับค่าลดหย่อน 1,000 บาท จะประหยัดภาษีเพิ่มได้ 350 บาท แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แบบนี้ต่อให้ได้รับค่าลดหย่อน 1,000 บาท ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เสียภาษีแต่แรกอยู่แล้ว

 

  • หลายคนมักเข้าใจผิดว่า สิทธิประโยชน์ภาษีจำนวน 190,000 บาท ของผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้พิการนั้นเป็น "ค่าลดหย่อน" แต่ความจริงแล้วกฏหมายระบุ ว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นการยกเว้นรายได้ให้ผู้มีเงินได้อายุ 65 ปีหรือผู้พิการสำหรับรายได้ 190,000 บาทแรก ดังนั้น สิทธิประโยชน์นี้จึงควรเรียกว่า "เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี" มากกว่า

 

  • หลายคนสับสนระหว่างคำว่า ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน ว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ความจริงแล้วสองคำนี้มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายมอบให้โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่คุณได้รับ เช่น มีรายได้จากงานประจำจะหักค่าใช้จ่ายได้แบบนึง แต่ถ้ามีรายได้จากดอกเบี้ยจะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย ในขณะที่ ค่าลดหย่อน คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายมอบให้ โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของตัวผุ้เสียภาษีคนนั้น ๆ เช่น มีภาระดูแลพ่อแม่ มีภาระจ่ายดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย หรือจ่ายเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต (VAT)

ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร 

    เมื่อผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับ

แต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 1.8 ล้านบาท


ขั้นตอนการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

  1. การยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ
    โดยยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
       ซึ่งเอกสารที่ใช้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีดังนี้

1. แบบคำขอจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01) จำนวน 3 ฉบับ                   

    พร้อมลายเซ็นผู้มีอำนาจลงนาม
2. หลักฐานแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการได้แก่

    2.1 สัญญาเช่าอาคารที่เป็นที่ตั้งสถานประกอบการปิดอากรแสตมป์ (กรณีเช่า) หรือ

          หนังสือยิยอมให้ใช้สถานที่เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของให้ใช้โดยไม่ได้

          ค่าตอบแทน)

    2.2 สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ

    2.3 สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า/ผู้ยินยอม เช่น การเป็นเจ้าบ้าน สัญญา

          ซื้อขาย คำขอเลขที่บ้าน ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าช่วง

    2.4 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านสถานประกอบการของผู้ให้เช่า

          หรือผู้ยินยอม หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่า)

3. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ

    ที่แสดงให้เห็นบ้านเลขที่

4. หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ

     ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มีอำนาจลงนาม

6. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์

 

   2. การยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ต

        ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางระบบอินเตอร์เนต

        โดยมีขั้นคอนดังต่อไปนี้

     2.1 เข้าสู่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th   คลิกเลือก นิติบุคคล 

           เมื่อเข้าสู่หน้าจอ บริการที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เลือก ภาษีมูลค่าเพิ่ม

     2.2 คลิกเลือก ระบบบริการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางอินเทอร์เน็ต

     2.3 เมื่อเข้าสู่หน้าจอ VAT-SBT ONLINE เลือก บริการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

     2.4 เมื่ออ่านคำอธิบายคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนแล้ว ถ้าต้องการจดทะเบียนให้

           กดปุ่ม ‘ยืนยันการจดทะเบียน’

    2.5 กรณีผู้ประกอบการมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียน 1.8 ล้านบาท หรือเป็นผู้ส่งออก

          ให้ คลิก แบบภ.พ.01 และกด ‘ยืนยันการจดทะเบียน‘

    2.6 กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลักแล้วกด ตกลง

    2.7 ผู้ประกอบการกรอกข้อมูลในแบบ ภ.พ.01 ประกอบด้วย ข้อมูลสถานประกอบการ ได้แก่

          ชื่อที่อยู่สำนักงานใหญ่ สาขาและชื่อที่อยู่สาขา (ถ้ามี) และข้อมูลอื่นๆ ได้แก่ วันที่ประสงค์

          จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เงินทุนจดทะเบียน ประมาณการรายรับต่อเดือน ประเภท

          ของการประกอบกิจการ เป็นต้น

   2.8 เมื่อบันทึกข้อมูลในแบบ ภ.พ.01 ครบถ้วนแล้วระบบจะให้ผู้ประกอบการตรวจสอบความถูก

          ต้องของข้อมูลที่บันทึกทั้งหมด แล้วกดปุ่ม ตกลง เมื่อต้องการยืนยันให้กดปุ่ม OK

   2.9 หลังจากยืนยันการจดทะเบียนแล้ว หน้าจอจะแสดงผลการยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษี

         มูลค่าเพิ่มพร้อมคำแนะนำและแสดงรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านจำนวน 1 ชุด ซึ่งเป็นรหัส

         สำหรับผู้ประกอบการในการตรวจสอบแบบ ภ.พ.01 ที่ได้กรอกไปแล้ว กรณีที่ต้องการ

         แก้ไขข้อมูลสามารถใช้รหัสดังกล่าวในการแก้ไขก่อนเวลา 17.00 น.ของวันที่บันทึกยื่น

         คำขอจดทะเบียนไว้เท่านั้น หลังจาก 17.00 น. ข้อมูลที่บันทึกไว้จะไม่สามารถแก้ไขได้

 

หมายเหตุ 

เมื่อได้รับการอนุมัติให้เป็นกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี จัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายเป็น

ประจำทุกเดือน รวมทั้งยื่นแบบภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้คืออะไร

ใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ เป็นเอกสารที่ผู้ประกอบการออกเพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงจำนวนเงินที่ต้องชำระ

และใช้เป็นเอกสารสำหรับการชำระเงิน ส่วนใหญ่มักใช้กับธุรกิจขายส่ง ที่มีการส่งของล็อตใหญ่

ส่งกันหลายรอบ หรือธุรกิจที่มีการวางเครดิตในการชำระเงิน


สิ่งสำคัญมากๆ ในการออกใบวางบิล คือจะต้องทราบวันรับวางบิลของลูกค้าให้ชัดเจน เราจะออกตามอำเภอใจ

ไม่ได้ ให้ถือว่าคนจ่ายเงินมีอำนาจในการตัดสินใจเสมอ เพราะถ้าวางบิลไม่ตรง เงินที่ควรจะได้รับก็จะถูกเลื่อน

ออกไปเป็นเดือนๆ แถมยังต้องรับภาระในการจ่ายภาษีขายที่ต้องชำระทุกเดือนแทนลูกค้าก่อนด้วย


ยิ่งใบวางบิลที่รอลูกค้าชำระเงิน เจ้าของธุรกิจต้องวางแผนการเก็บเงินให้ดี อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจจะ

อยู่รอดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียกเก็บเงินของเจ้าของธุรกิจเลยทีเดียว


ดังนั้นระหว่างการตกลงการให้บริการหรือซื้อขายสินค้า ควรสอบถามวันรับวางบิลจากลูกค้าให้ชัดเจน

เพราะแต่ละบริษัทจะมีวันวางบิลที่แตกต่างกัน


แต่ปัญหาที่มักพบบ่อยในการทำเอกสาร ใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ คือความผิดพลาดของการออกเอกสาร เช่น

การกรอกรายละเอียดต่างๆ ไม่ครบถ้วน, ไม่ตรงตามใบเสนอราคา รวมไปถึงปัญหาการลืมส่งเอกสาร

ทำให้ผู้ประกอบได้รับเงินช้ากว่ากำหนดครับ

                                                                                                                                                                          

วิธีวางใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้

1. สอบถามฝ่ายบัญชีของลูกค้า เรื่องกำหนดการวางบิล และรับเช็คของบริษัท

2. จัดเตรียมเอกสารจำนวน 1 ชุด (ต้นฉบับ และสำเนา) หากมีใบเสนอราคา

    หรือใบสั่งซื้อก็ควรแนบเอกสารไปกับใบวางบิลด้วย

3. นำส่งเอกสาร โดยผู้รับเอกสารจะเซ็นชื่อเพื่อเป็นการรับรองการวางบิล

     ในขั้นตอนนี้ต้นฉบับเอกสารจะอยู่กับลูกค้า ในขณะที่เอกสารสำเนาให้เรานำกลับมาครับ

4. รับเช็คตามวันที่กำหนด ในวันดังกล่าวให้ผู้ประกอบการเตรียม “ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน”

    ไปให้พร้อมเพื่อรับ เงิน ทั้งนี้บางธุรกิจเอกสาร “ใบกำกับภาษี” ทางลูกค้าอาจจะขอให้ผู้ขายจัด

    เตรียมและนำส่งพร้อม ใบวางบิล/ใบ แจ้ง หนี้ในขั้นตอนที่ 3 ก็ได้

 

ข้อมูลในใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ 
ข้อมูลฝ่ายผู้ประกอบการ (ผู้ออกเอกสารใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้)
  1. ชื่อและที่อยู่บริษัท
  2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และสำนักงานสาขา
  3. เบอร์ติดต่อบริษัทและเบอร์แฟกซ์
  4. เลขที่ใบวางบิล
  5. ลายเซ็นผู้วางบิล และ ระบุวันที่ที่ออกเอกสาร

 

ข้อมูลฝ่ายลูกค้า (ผู้รับใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้)
  1. ชื่อและที่อยู่บริษัท
  2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และสำนักงานสาขา
  3. รายละเอียดของสินค้า/บริการ ที่สั่งซื้อหรือให้บริการ พร้อมระบุยอดรวม
  4. วันครบกำหนดชำระเงิน
  5. ลายเซ็นผู้รับวางบิล และระบุวันที่ที่รับเอกสาร

                                                                                                                                                                       

ใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี

ใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี เป็นหลักฐานแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณได้จากมูลค่าสินค้าหรือบริการ

ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อเกิดการซื้อสินค้าหรือให้บริการ

องค์ประกอบของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ

โดยปกติ ใบกำกับภาษีที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้

  • คำว่า "ใบเสร็จรับเงิน หรือ ใบกำกับภาษี" ในที่ ๆ เห็นได้ชัดเจนเด่นชัด
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกบกำกับภาษี
  • ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี (และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี)
  • ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  • จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  • วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  • ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

                                                                                                                                                                       

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร?

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็คือ “เงิน” ที่ผู้จ่ายเงิน “หัก” ไว้ก่อนที่จะจ่ายให้กับผู้รับเงิน แล้วเอาเงินนั้นไปให้กับรัฐ

นั่นทำให้ผู้รับเงินไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนครับ แต่จะได้เงินบวกกระดาษแผ่นนึงที่เรียกว่า

หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายส่วนผู้จ่ายเงินยังต้องจ่ายเต็มนะครับ เพียงแต่จ่ายให้กับผู้รับเงิน

โดยตรงส่วนนึง แล้วให้สรรพากรอีกส่วนนึง

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีไว้ทำไม?

ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรบอกไว้ว่า “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” คือตัวช่วยในการลดภาระผู้เสียภาษี

ไม่ต้องเสียภาษีเยอะๆ ทีเดียวตอนปลายปีครับ แต่ว่าถ้ามองในอีกแง่ คือ เค้ากลัวเราเบี้ยวเงินภาษี

เงินได้ปลายปีมากกว่า กลัวไม่มีตังค์จ่าย ก็เลยทยอยๆ รับเงินไว้เลย ตอนที่เราได้รับเงินนั้นเอง

 

ต้องหักเมื่อไร?

เมื่อจ่ายเงินที่เกิน 1,000 บาทในคราวเดียว หรือหลายคราวรวมกันก็แล้วแต่ เช่นถ้าคุณแบ่งจ่าย

บริการมูลค่า 1,200 บาท 2 ครั้ง ครั้งละ 600 บาท คุณต้องหักไว้ทั้ง 2 ครั้งด้วย แม้แต่ละครั้งจะไม่เกิน 1,000 บาท

 

รายการอะไรบ้างที่เราต้องหัก และนำส่ง เมื่อจ่ายให้บุคคลธรรมดา

1.เงินเดือน ค่าจ้าง (เงินได้ประเภทที่ 1)

อันนี้ชัดเจนครับ ถ้าคุณจ่ายเงินให้พนักงานหรือคนที่จ้างทำงานให้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือสิ่งที่ต้องหักเอาไว้ด้วยนะครับ

ต้องหักเท่าไหร่ : ต้องคำนวณเงินได้ทั้งปี หักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วหักตามอัตราก้าวหน้า

เหมือนกับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทนี้คือประเภท

ที่เป็นไปได้ตั้งแต่ 0 คือไม่หักเลย หรือเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแค่คำนวณครับ วิธีการคำนวณแนะนำ

ให้ถามนักบัญชี หรือฝ่ายบุคคลดูนะครับ หรือถ้ามีเวลาจะเขียนการคำนวณในอีกบทความต่อไป

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.1

ต้องนำส่งสรรพากรภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : ผู้จ่ายทุกคน บุคคลธรรมดาก็ต้องหัก

 
2.จ้างทำงานให้ (เงินได้ประเภทที่ 2)

ถ้าคุณจ่ายเงินให้บุคคลธรรมดาที่เค้ารับทำอะไรบางอย่างให้ เช่น เป็นนายหน้าขายของ ได้ส่วนแบ่งค่าคอม

หรือรับทำ หรือให้บริการอะไรบางอย่าง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือสิ่งที่ไม่ควรลืมเลยล่ะครับ

ต้องหักเท่าไหร่ : เหมือนข้อ 1 เลยครับ

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.1 

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : ผู้จ่ายทุกคน บุคคลธรรมดาก็ต้องหัก

เพิ่มเติม : หลายคนอาจจะคิดในใจว่า รับจ้างทำงานให้ ไม่ใช่รับทำของแล้วหัก 3% หรอ?

ตรงนี้แหละครับที่เริ่มจะต้องใช้การตีความและข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อแบ่งระหว่างจ้างทำของกับรับจ้างทำงานให้


*ความแตกต่างระหว่าง “จ้างทำของ” กับ “ รับทำงานให้ ” นั่นแยกได้ไม่ยากมากครับ นั่นคือ

จ้างทำของผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่สำคัญในการทำงานเอง ผู้จ่ายเงินไม่ได้หามาให้

อันนี้ถือเป็นการทำธุรกิจแบบนึง ในกรณีนี้หัก 3% ครับ แต่ว่าถ้าเป็นการขายของให้ หรือจ้างเป็นเซลล์

ให้ส่วนแบ่งการขาย อันนี้ให้คำนวณเหมือนเค้าเป็นพนักงานเลยครับ เพราะว่าไม่ได้เป็นการใช้อุปกรณ์

อะไรเป็นการเฉพาะ.

 

3.จ้างทำของ / จ้างรับเหมา (เงินได้ประเภทที่ 7/8)

ตามที่ได้อธิบายไว้ด้านบนครับ ถ้าคุณจ้างใครทำอะไรให้ แล้วเค้าต้องใช้อุปกรณ์อะไรของเค้าเอง

เช่น จ้างเขียนโปรแกรม เค้าต้องไปหาคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ใช้เขียนเอง อันนี้ก็ถือเป็นการจ้างทำของ

หรือถ้าคุณจ้างออกแบบให้ เค้าต้องไปหาคอมพ์และโปรแกรมออกแบบเองอันนี้ก็ถือเป็นการจ้างทำของ

แต่ถ้าคุณมีอุปกรณ์อะไรให้ครบครั้น แล้วให้เค้าออกแบบให้เฉยๆ อันนี้ถือว่าเป็นการจ้างทำงานให้

(เงินได้ประเภทที่ 2) ฟังดูไม่ยากใช้มั้ยครับ? แบ่งง่ายๆ ว่าใครให้ใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานนั้นๆ

ให้สำเร็จ แล้วอย่าลืมว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือสิ่งที่ต้องหักเอาไว้ด้วยล่ะครับ

ต้องหักเท่าไหร่ : 3%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.3

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล



4.จ้างบริการวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)

คุณอาจจะต้องจ้างผู้สอบบัญชี หรือทนายความบ้างในการทำธุรกิจ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทนี้คือประเภท

ที่คุณห้ามลืมเลยล่ะ

ต้องหักเท่าไหร่ : 3%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.3

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

 


5.ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)

ถ้าคุณเช่าออฟฟิศจากบุคคลธรรมดา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือสิ่งที่คุณห้ามลืมนะครับ

ต้องหักเท่าไหร่ : 5%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.3

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

เพิ่มเติม : คุณอาจจะเคยเจอว่าผู้ให้เช่าเค้าจะรับเงินเต็มๆ ไม่ให้หัก ณ ที่จ่าย!! อันนี้เป็นเรื่องน่าลำบากใจมากครับ

คุณมี 3 ตัวเลือกที่จะทำ

1) คุณเป็นผู้ออกภาษีแทนให้ แล้วนำส่งแบบตามปกติต่อไป แต่ก็เหมือนกับค่าเช่าคุณแพงขึ้นไปอีกประมาณ 5%

แต่ธุรกิจคุณจะปลอดภัยจากค่าปรับภาษี และไร้จุดอ่อนไม่ให้สรรพากรโจมตีได้

2) หาที่เช่าใหม่ นี่มันไม่ถูกต้อง!! ชั้นไม่ออกภาษีให้หรอก!

3) นิ่งๆ ไม่หักก็ไม่หัก เงียบๆ ไว้จะเลือกทางไหนก็แล้วแต่คุณแล้วกันครับเมื่อจ่ายให้นิติบุคคล



6.จ้างทำของ/จ้างรับเหมา/บริการต่างๆ (เงินได้ประเภทที่ 7/8)

อันนี้เป็นกรณีเกิดขึ้นบ่อยสุดแล้วครับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทนี้คือประเภทที่แตกต่างจากประเภทอื่นๆ

ซึ่งสำหรับบริการธุรกิจต่างๆ หัก 3% ใช้กันจนจะลืมว่ามีอัตราอื่นๆ กันแล้ว

ต้องหักเท่าไหร่ : 3%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.53

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล


7.ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)

ถ้าคุณเช่าออฟฟิศจากนิติบุคคล อันนี้ก็เหมือนๆ กับเช่าจากบุคคลธรรมดาแหละครับ ต่างกันแค่แบบ

แล้วภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทนี้คือสิ่งที่คุณห้ามลืมเลยล่ะครับ

ต้องหักเท่าไหร่ : 5%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.53

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล


8.ค่าโฆษณา (เงินได้ประเภทที่ 8)

ถ้าคุณจ้างบริษัทโฆษณาต่างๆ ให้โฆษณาให้ คุณต้องหัก ณ ที่จ่ายดัวยนะครับ แต่อัตราอาจจะแปลกๆ

กว่าอันอื่นๆ หน่อย ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทนี้คือประเภทที่ถูกหักเพียง 2% เท่านั้น

ต้องหักเท่าไหร่ : 2%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.53

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

 
9.ค่าขนส่ง (เงินได้ประเภทที่ 8)

ถ้าคุณจ้างบริษัทขนส่ง “ไม่สาธารณะ” ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่ง ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ประเภทนี้คือประเภทที่ต้องหักแค่ 1% นะครับ อย่าหัก 3% เดี๋ยวของคุณจะไปไม่ถึงปลายทาง

ต้องหักเท่าไหร่ : 1%

แบบภาษีที่ต้องใช้นำส่ง : ภ.ง.ด.53

ต้องนำส่งภายใน : วันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือวันที่ 15 หากยื่นออนไลน์ ถ้าติดวันหยุดก็เป็นวันทำการถัดไป

ผู้ที่ต้องหัก : บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้